Search

คอลัมน์การเมือง - ทางสายกลาง...ไม่ใช่การหารครึ่ง - หนังสือพิมพ์แนวหน้า

doublessentertainment.blogspot.com

วันนี้เป็นวันพุธขึ้น 4 ค่ำ เดือน 8 ปีชวด เหลืออีก 14 วันก็จะเป็นวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาเมื่อครั้งโพธิกาล บทความวันนี้จึงยังคงนับเนื่องในเรื่อง“จากเนรัญชราถึงอิสิปตนะ” เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาด้วยปรารถนาความสวัสดีให้บังเกิดมีแก่พระราชอาณาจักรและพี่น้องผู้ร่วมเกิดแก่เจ็บตายทั้งหลาย

เมื่อครั้งที่แล้วก็ได้พรรณนาให้เห็นอย่างชัดเจนว่าอริยสัจสี่ที่ทรงแสดงในธัมมจักกัปปวัตนสูตรนั้นแตกต่างจากอริยสัจสี่ที่เราเคยเรียนเคยรู้กันมา ซึ่งเรียนรู้กันแค่ตัวหนังสือ คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ซึ่งเป็นเพียง 1 ใน 3ของคำสอนที่แท้จริงเท่านั้น

แต่เป็นอริยสัจสี่ที่ทรงสอนอย่างชัดเจนว่าเป็นอริยสัจสี่ที่มีรอบสาม อาการสิบสอง ซึ่งถ้าไม่รู้ด้วยปัญญาอันยิ่งในอริยสัจ 4 ชนิดนี้แล้ว พระองค์ก็ไม่สามารถปฏิญาณพระองค์ได้ว่าทรงตรัสรู้แล้ว และอริยสัจ 4ในรอบสาม อาการสิบสองนั้นก็คืออริยสัจ 4 ที่บริบูรณ์ด้วยปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ ซึ่งเป็นองค์สามแห่งการศึกษาในพระพุทธศาสนา

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ชาวพุทธจะได้ตระหนักและหันมาทำการศึกษาทำความเข้าใจในอริยสัจ 4 ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้จากพระโอษฐ์นั้น ก็จะเป็นทางให้เข้าถึงซึ่งพรหมจรรย์อันประเสริฐสมกับความเป็นชาวพุทธ

แม้กระทั่งปฏิปทาอันเป็นทางสายกลาง หรือมรรคอันมีองค์แปดนั้นก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญที่สุดที่ชาวพุทธพึงประพฤติปฏิบัติให้หมดจดบริสุทธิ์บริบูรณ์ เพราะทางนี้เท่านั้นที่จะนำพาไปสู่ความเป็นอิสระสูงสุด คือความหลุดพ้นออกจากความติดยึดทั้งหลาย หรือที่เรียกว่าความดับทุกข์หรือที่เรียกว่าการบรรลุความเป็นพระอรหันต์

พึงเข้าใจว่าทางสายกลางที่ทรงสั่งสอนนั้นไม่ใช่ทางครึ่งทาง หรือไม่ใช่ระยะทางทั้งหมดแล้วหารด้วยสอง หรือเป็นแค่ระยะครึ่งทาง ซึ่งถ้าทำความเข้าใจตรงนี้ไม่แจ่มแจ้งแล้วก็จะหลงทิศผิดทาง เอะอะอะไรก็จะเอาสองหารร่ำไป ซึ่งไม่มีทางไปถึงที่หมายปลายทางได้เลย

ทางสายกลางที่ตรัสสอนนั้นตรัสชัดเจนว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิปทาสายกลางไม่เข้าไปใกล้ที่สุดสองอย่างนั้น นั่นตถาคตได้ตรัสรู้แล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง” ซึ่งมีความชัดเจนว่าหนทางสายกลางนั้นก็อยู่ในวิสัยโลกนั่นเอง คืออยู่ในกระแสโลกที่ด้านหนึ่งก็สุดโต่งไปทางตึงอีกด้านหนึ่งก็สุดโต่งไปทางหย่อน แต่ปฏิปทาสายกลางคือการไม่เข้าไปใกล้จุดสุดโต่งทั้งสองด้านนั้น คือไม่เข้าไปใกล้การทรมานตนให้ได้ยากลำบาก หรือการหมกมุ่นอยู่ในกาม ความสุดโต่งสองสุดนี้ไม่ใช่ทางอันประเสริฐ การไม่เข้าไปใกล้นั่นแหละทางอันประเสริฐ และเรียกว่าทางสายกลาง

ทางสายกลางหรือปฏิปทาสายกลางนี้ตรัสว่าประกอบด้วย องค์แปด คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ
สัมมาสมาธิ ซึ่งแปลว่าความเห็นชอบ ความดำริชอบเจรจาชอบ การกระทำชอบ การเลี้ยงชีพชอบ ความพยายามชอบ ระลึกชอบ และตั้งใจชอบ

เพราะสอนกันอย่างนี้ จึงสับสนกันอยู่ในเรื่อง “ชอบ”เพราะชอบที่มีความหมายว่าพอใจนั้นเป็นความติดยึด ส่วนชอบที่มีความหมายว่าเป็นความถูกต้องนั้นก็เป็นขั้วสุดอีกอันหนึ่งตรงกันข้ามกับขั้วความไม่ถูกต้อง เหตุนี้ชาวพุทธจึงมีความสับสนเกี่ยวกับคำสอนเรื่องปฏิปทาสายกลางกันโดยทั่วไป

ในการแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตรนั้น การใช้ภาษาดังกล่าวเป็นที่รู้เป็นที่เข้าใจในความหมายโดยตรง ดังนั้นพระพุทธองค์จึงทรงไม่แสดงในรายละเอียดว่าองค์แปดแต่ละองค์แห่งมรรคนั้นมีความหมายอย่างไร จึงเป็นเหตุให้ชาวพุทธในระยะหลังตีความอธิบายขยายความกันเองตามความรู้ความเข้าใจของตน ซึ่งยิ่งอธิบายแตกต่างกันมากก็เกิดความสับสนแก่ชาวพุทธมากขึ้นเท่านั้น

พึงเข้าใจว่าอริยมรรคนั้นต่างกับทุกข์ สมุทัย นิโรธ เพราะอริยสัจสามชนิดนี้เป็นเรื่องที่มีอยู่โดยธรรมชาติ เป็นกฎธรรมชาติว่าทุกข์เป็นอย่างไร มีต้นเหตุจากอะไร และสภาวะที่ทุกข์ดับสนิทแล้วเป็นอย่างไร ไม่ต้องทำอะไร ธรรมชาตินี้ก็มีอยู่คู่กับโลก

ต่างกับมรรคซึ่งเป็นปฏิปทาหรือการปฏิบัติเพื่อดับเหตุแห่งทุกข์ ดังนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงสรุปคำสอนของพระองค์เองว่าคำสอนทั้งหลายที่พระองค์ตรัสสอนนั้นสรุปได้แต่เพียงสองเรื่องเท่านั้น คือเรื่องทุกข์และความดับทุกข์ และมรรคนั้นก็คือเครื่องมือเดียวที่ใช้ในการดับทุกข์

อริยมรรคอันมีองค์แปดนั้นก็เป็นทั้งปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธอยู่ในตัว ซึ่งเป็นรอบหนึ่งของมรรคที่พระองค์ตรัสว่ามรรคคืออะไร มรรคเป็นสิ่งที่ต้องเจริญ ซึ่งก็คือต้องปฏิบัติด้วยตนเองนั่นเอง และมรรคเป็นสิ่งที่เราได้เจริญถึงที่สุดแล้ว คือได้ปฏิบัติจนถึงที่สุด ถึงซึ่งความหลุดพ้น ดังปรากฏในอนัตตลักขณสูตรที่ทรงตรัสว่าวิราคาวิมุจจะติ วิมุตตัสสะมิง วิมุตตะมิติ ญาณัง โหติ นั่นเอง

ต่อมาพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสด้วยพระองค์เอง อธิบายมรรคอันมีองค์แปดนี้แต่ละองค์ว่าเป็นอย่างไร มีความหมายอย่างไร ซึ่งเป็นคำอธิบายจากพระโอษฐ์ที่ตรัสเองแสดงเองโดยตรง ไม่ต้องถกเถียงหรือแปลความเป็นอย่างอื่นและที่ทรงตรัสในเรื่องนี้ก็หมดจดบริบูรณ์ทั้งในเชิงปริยัติ ปฏิบัติและปฏิเวธ เป็นแต่ว่าไม่ได้นำมาสอน ไม่ได้นำมาทำความเข้าใจกัน

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิบายแต่ละองค์แห่งมรรคแปดไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร โดยทรงอธิบายชัดเจนว่า

สัมมาทิฏฐิเป็นไฉน ความรู้ในทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคอันนี้เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ

สัมมาสังกัปปะเป็นไฉน ความดำริในการออกจากกาม ในความไม่พยาบาท ในอันไม่เบียดเบียน อันนี้เรียกว่าสัมมาสังกัปปะ

สัมมาวาจาเป็นไฉน การงดเว้นจากการพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดคำหยาบ การพูดเพ้อเจ้อ อันนี้เรียกว่าสัมมาวาจา

สัมมากัมมันตะเป็นไฉน การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ การถือเอาสิ่งที่เขามิได้ให้ การประพฤติผิดในกาม อันนี้เรียกว่าสัมมากัมมันตะ

สัมมาอาชีวะเป็นไฉน การละการเลี้ยงชีพที่ผิด สำเร็จการเลี้ยงชีพโดยชอบเรียกว่าสัมมาอาชีวะ

สัมมาวายามะเป็นไฉน คือความพอใจ พยายามปรารภความเพียร ประคองจิตตั้งจิตไว้ไม่ให้อกุศลธรรมบังเกิดขึ้น ละอกุศลธรรมที่บังเกิดแล้ว และเพื่อให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดไม่เลือนหายไป มีความเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น เต็มเปี่ยมขึ้น กุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้วอันนี้เรียกว่าสัมมาวายามะ

นี่คืออริยมรรคหกองค์แรก ซึ่งเป็นเรื่องของการตั้งความคิดความเห็นและการประพฤติปฏิบัติทางกาย วาจา ให้เป็นไปโดยถูกต้องตามที่ทรงอธิบายไว้ในแต่ละข้อ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของความเห็นความเข้าใจความรู้

ส่วนมรรคองค์ที่เจ็ดและองค์แปดนั้นคือสัมมาสติและสัมมาสมาธิ เป็นเรื่องที่อยู่ในบริบทของการปฏิบัติอบรมทางจิตโดยตรง เป็นการปฏิบัติหรือปฏิปทาสายกลางในขั้นที่จะทำให้มนุษย์ธรรมดาหลุดพ้นออกจากการติดยึดทั้งปวงสู่ความเป็นอิสระสูงสุดคือความดับทุกข์หรือนิพพาน

มรรคองค์ที่เจ็ดและองค์ที่แปดนี่แหละที่เป็นปัญหาและเกิดความสับสนขึ้นในหมู่ชาวพุทธมาตั้งแต่โบราณกาล อาจจะเรียกว่าเริ่มตั้งแต่ทำสังคายนาครั้งแรกมาจนถึงครั้งที่สามก็ว่าได้ ความแตกต่างใหญ่ก็อยู่ที่ตรงนี้

แม้ในชั้นหลังมีการนิพนธ์คัมภีร์สำคัญในพระพุทธศาสนาสองคัมภีร์ คือคัมภีร์วิมุตติมรรคและคัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งเป็นคัมภีร์สำคัญที่สุดว่าด้วยการปฏิบัติทางจิตหรือแบบแผนวิธีปฏิบัติในการเจริญสมถะวิปัสสนา หรือวิปัสสนากรรมฐานเพื่อถึงซึ่งความหลุดพ้น ก็ปรากฏว่าทั้งสองคัมภีร์นี้ก็ขัดแย้งกันดังเช่นคัมภีร์วิมุตติมรรคได้ระบุแบบแผนการปฏิบัติไว้ 38 แบบ ในขณะที่คัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งชาวพุทธไทยถือเป็นหลักได้ระบุแบบแผนปฏิบัติไว้เป็น 40 แบบ

ทั้งๆ ที่ความจริงพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแบบแผนปฏิบัติไว้เป็นแม่บทแม่แบบรวม 36 แบบวิธี คือ กสิณ10 วิธี อสุภะกรรมฐาน 10 วิธี อนุสติ 10 วิธี อัปปมัญญา 4 วิธีจตุธาตุววัตถาน 1 วิธี และอาหาเรปฏิกูลสัญญาอีก 1 วิธี

แล้วความแตกต่างอยู่ที่ตรงไหนเล่า เมื่อคัมภีร์หลักเป็นเช่นนี้ ยิ่งนานวันเข้าความแตกต่างแตกแยกก็ยิ่งมากขึ้นจนเป็นปัญหาขึ้นในทุกประเทศ ซึ่งจักพรรณนาเงื่อนปมนี้ต่อไป




June 24, 2020 at 02:00AM
https://ift.tt/3fSyboO

คอลัมน์การเมือง - ทางสายกลาง...ไม่ใช่การหารครึ่ง - หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://ift.tt/30rXUjw


Bagikan Berita Ini

0 Response to "คอลัมน์การเมือง - ทางสายกลาง...ไม่ใช่การหารครึ่ง - หนังสือพิมพ์แนวหน้า"

Post a Comment

Powered by Blogger.